ทำความรู้จักกับ ‘ชิงแชมป์สโมสรโลก’ รูปแบบใหม่

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่า เรอัล มาดริด พร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับ ลิเวอร์พูล เป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เพื่อที่จะดึง เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ไปอยู่กับทีมก่อนกำหนด แม้ว่าจะสามารถเซ็นฟรีได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมก็ตาม
ปัจจัยหลักในที่มาของข่าวนี้คือการที่ทัพ ‘ราชันชุดขาว’ กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การแข่งขัด ชิงแชมป์สโมสรโลก ซึ่งมีการปรับรูปแบบจากเดิมที่โม่แข้งเพียงแค่ 7 ทีมจาก 6 ทวีป กลายเป็นเข้าร่วมมากถึง 32 ทีม โดยจะเปลี่ยนความถี่จากทุกปีเป็นทุก 4 ปี ซึ่งดู ๆ แล้วก็มีความใกล้เคียงกับ ฟุตบอลโลก ฉบับทีมชาติอย่างเห็นได้ชัด
แน่นอนว่าการแข่งขันจะดุเดือด และยาวนานมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่ว่าตัวแทนจากยุโรป จะนอนมาง่าย ๆ เหมือนก่อน ๆ แล้ว เพราะว่าตอนนี้มากันเยอะ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่สุดคือเรื่องของเงินรางวัล ซึ่งทีมแชมป์มีโอกาสคว้าเงินไปครองกว่า 100 ล้านยูโร
สำหรับการแข่งขันนั้นก็เหมือนกันกับ ฟุตบอลโลก อย่างชัดเจน รอบแรกแบ่งเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม คัดเอา 2 ทีมที่ดีที่สุดเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งจะซัดกันแบบน็อคเอาท์ตั้งแต่รอบนี้ ซึ่งทีมที่จะได้เข้าร่วมนั้น ฟีฟ่า แบ่งเกณฑ์ตามความเหมาสมดังนี้ ยุโรป 12 ทีม, อเมริกาใต้ 6 ทีม, อเมริกาเหนือ 4 ทีม, เอเชีย 4 ทีม, แอฟริกา 4 ทีม, โอชีเนีย 1 ทีม และเจ้าภาพอีก 1 ทีม
โดยในปี 2025 ผู้ที่รับบทเป็นหนูทดลองในการจัดงานก็คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะได้ถือโอกาสเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนที่ ฟุตบอลโลก 2026 ฉบับ 48 ทีมเป็นครั้งแรก จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วอึดใจ
การมาถึงของ ชิงแชมป์สโมสรโลก ในรูปแบบใหม่ นั้นสร้างผลกระทบอย่างมากต่อวงการฟุตบอล เพราะนี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมอื่น ๆ นอกยุโรป หรืออเมริกาใต้ได้อย่างมหาศาล
ลองคิดกันดูเล่น ๆ ซิครับว่าถ้าคุณเป็นนักฟุตบอลไทยสักคนหนึ่ง ที่ได้แชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก นั่นเท่ากับว่าคุณมีโอกาสที่จะได้ไปกระทบไหล่ คีเลียน เอ็มบัปเป้ หรือ จู๊ด เบลลิงแฮม แบบตัวเป็น ๆ แถมใกล้ชิดกันแบบเนื้อแนบเนื้อบนสนาม
นอกจากนั้นทัวร์นาเมนต์นี้ ที่จากเดิมเหมือนรายการอุ่นเครื่องของทีมจากยุโรป ก็ต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเงินรางวัล มันช่างน่าล่อตาล่อใจซะเหลือเกิน ยกตัวอย่างเช่นถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้แชมป์รายการนี้ ก็ได้ค่าตัว แอนโธนี่ คืนแล้ว แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือ ‘ปีศาจแดง’ ไม่มีสิทธิไปแข่งนะจ้ะ
มีเรื่องดีไปแล้ว ใช่ว่าจะไม่มีผลเสียเลย เพราะสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ สภาพร่างกายนักเตะ ที่แทบจะไม่ได้พักเลยตลอด 12 เดือน โปรแกรมปกติ พวกเขาแทบจะต้องลงสนามทุก 3 วัน ซึ่งจุดนี้เองสุ่มเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บอย่างมาก ไม่นับรวมความล้า ที่จะส่งผลเสียต่อการขับเคี่ยวในปีถัดไป
ถึงจุดนี้ก็คงต้องบอกว่า การแข่งขัน ชิงแชมป์สโมสรโลก ในรูปแบบใหม่นั้นจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับฟุตบอลอย่างแน่นอน คราวนี้ก็มารอลุ้นกันว่า จะมีผลดี ผลเสีย อื่นใด มาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ส่วนในฐานะแฟนบอลอย่างพวกเรา ก็คงไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่าตามติดทัวร์นาเมนต์นี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าแล้ว

